แค่คุณเลือกกินอาหารกลุ่มนี้...ก็ลดโอกาสเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมได้แล้ว
การศึกษาล่าสุดพบว่าเด็กสาววัยรุ่นที่ชอบรับประทานอาหารที่มีกากใยสูง เช่น ผักและผลไม้จะมีโอกาสเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งเต้านมลดลงราวร้อยละ 12-19 เมื่อเทียบกับผู้หญิงที่บริโภคอาหารที่มีกากใยน้อยกว่า ส่วนผู้หญิงที่บริโภคอาหารกากใยสูงในช่วงวัยรุ่นจะมีโอกาสเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งเต้านมก่อนเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนลดลงถึงร้อยละ 24 เมื่อเทียบกับผู้ที่บริโภคอาหารที่มีกากใยน้อยกว่า
การศึกษานี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพเรื่องอาหารการกินในช่วงต้นๆของชีวิตที่มีผลต่อชีวิตช่วงปลาย และการรับประทานอาหารที่มีกากใยสูงเป็นประจำในช่วงวัยรุ่นจะสามารถป้องกันโรคมะเร็งเต้านมได้ดีกว่าในช่วงปลาย กลุ่มนักวิจัยได้ศึกษาพฤติกรรมการรับประทานอาหารของอาสาสมัครเพศหญิงที่มีอายุระหว่าง 27-44 ปี เป็นจำนวนมากกว่า 90,500 คนและติดตามผลเป็นระยะเวลา 20 ปี
ทั้งนี้ในช่วงเวลาหนึ่งของการศึกษากลุ่มนักวิจัยยังสอบถามถึงอาหารที่อาสาสมัครรับประทานในสมัยเรียนระดับชั้นมัธยมปลาย ปรากฏว่าในระหว่างที่ทำการศึกษาวิจัยโครงการนี้อยู่มีอาสาสมัครจำนวน 2,833 คนเป็นโรคมะเร็งเต้านม นอกจากนี้พวกเขายังพบอีกว่ายิ่งอาสาสมัครรับประทานอาหารที่มีกากใยสูงมากเท่าไหร่ โอกาสเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งก็จะยิ่งลดลง
การรับประทานกากใยวันละ 10 กรัม เช่น แอปเปิ้ลหนึ่งผลกับขนมปังโฮลวีตสองแผ่น หรือพาสต้าโฮลเกรนประมาณครึ่งถ้วยกับถั่วแดงต้มครึ่งถ้วย ในช่วงวัยรุ่นจะช่วยลดโอกาสเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งเต้านมได้ถึงร้อยละ 14
ดังนั้นการศึกษาใหม่จึงแนะนำว่า “การรับประทานอาหารที่มีกากใยสูงให้ได้ตามปริมาณที่แนะนำประมาณ 25-30 กรัมทุกวันในช่วงตอนต้นของชีวิตจะช่วยลดโอกาสเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งเต้านมได้เมื่อเข้าสู่วัยกลางคน” อย่างไรก็ตามยังไม่มีข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนว่าอะไรคือกลไกที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ในครั้งนี้ แต่กลุ่มนักวิจัยสงสัยว่ากากใยอาจไปช่วยลดระดับเอสโตรเจนในกระแสเลือดที่อาจเกี่ยวโยงกับการเกิดโรคมะเร็งเต้านมได้
จากการศึกษาที่ผ่านมาทำให้เรารู้ว่าเนื้อเยื่อเต้านมจะได้รับอิทธิพลจากสารก่อมะเร็งและสารต้านมะเร็งในช่วงวัยเด็กและวัยรุ่น ตอนนี้เรามีหลักฐานแล้วว่าอาหารที่เราให้เด็กๆรับประทานในช่วงเวลานั้นคือปัจจัยสำคัญที่อาจทำให้กลายเป็นมะเร็งได้ในอนาคต จากการศึกษาครั้งใหม่นี้ได้รับการตีพิมพ์เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาในวารสาร Pediatrics
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น